Update : 17 Feb 2011
จุดประสงค์เพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค รวมทั้งวินิจฉัยโรคอื่น ที่อาจเกิดร่วมกับโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และผลแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นจากโรคนี้...
การวินิจฉัยโรค
มีจุดประสงค์เพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค รวมทั้งวินิจฉัยโรคอื่น ที่อาจเกิดร่วมกับโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และผลแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นจากโรคนี้ เพื่อที่จะได้ให้การรักษาไปพร้อมกัน
1. ประวัติ
อาศัยลักษณะเฉพาะของอาการเมื่อสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ และอาจมีโรคภูมิแพ้อื่นๆร่วมด้วย เช่น โรคหืด โรคตาอักเสบจากภูมิแพ้ โรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ นอกจากนี้อาชีพ สัตว์เลี้ยง และสิ่งแวดล้อมของผู้ป่วย ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน รวมทั้งสารที่ผู้ป่วย
คิดว่าตนแพ้ ประวัติครอบครัวก็มีส่วนช่วยในการวินิจฉัยโรค โดยผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ อาจมีพ่อ แม่ หรือ ญาติพี่น้อง
เป็นโรคภูมิแพ้อื่นๆดังกล่าวได้
2. การตรวจร่างกาย
ถ้าตรวจขณะที่มีอาการ ก็อาจพบอาการแสดงดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ถ้าตรวจขณะที่ไม่อาการหรือผู้ป่วยกินยาระงับอาการของ
โรคภูมิแพ้อยู่ ก็อาจไม่พบสิ่งผิดปกติใดๆ
3. การตรวจพิเศษ
จะช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรคในรายที่มีประวัติและการตรวจร่างกายเข้าได้กับ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และจะช่วยในการวินิจฉัย
ในรายที่มีประวัติและการตรวจร่างกายไม่ชัดเจน หรือวินิจฉัยโรคอื่นที่เกิดร่วมกับโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และผลแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นจากโรคนี้
การตรวจพิเศษเหล่านี้ได้แก่
3.1 การตรวจหาจำนวนเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบจากภูมิแพ้ชนิดอีโอสิโนฟิลใน เลือด ถ้าพบว่าอีโอสิโนฟิลสูงมากกว่า
ร้อยละ 10 จะช่วยสนับสนุน แต่ถ้าไม่สูงไม่ได้บอกว่าผู้ป่วยไม่เป็นโรคนี้ หรือถ้าสูงมากๆอาจต้องคิดถึงโรคอื่นด้วย
3.2 การตรวจหาจำนวนอีโอสิโนฟิลในน้ำมูก โดยนำน้ำมูกผู้ป่วยมาป้ายแล้วย้อมสี ถ้าพบว่ามากกว่าร้อยละ 30 ของเม็ดเลือดขาวที่ตรวจพบเป็นอีโอสิโนฟิล ก็น่าจะเป็นปฏิกิริยาภูมิแพ้ และจะช่วยสนับสนุน และเช่นเดียวกันถ้าไม่พบอีโอสิโนฟิลหรือพบน้อยกว่า
ร้อยละ 30 ก็ไม่ได้บอกว่าผู้ป่วยไม่เป็นโรคนี้
3.3 การตรวจหาเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบจากภูมิแพ้ ชนิดมาสต์เซลล์ เบโสฟิลที่เยื่อบุจมูก โดยการขูดชั้นผิวของเยื่อบุจมูก แล้วย้อมสี ในผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้จะพบมาสต์เซลล์ เบโสฟิลมากกว่าคนปกติ
3.4 การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง จะช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้ป่วยแพ้ ทำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงได้ถูกต้อง และให้ข้อมูลในกรณีที่ต้องรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีฉีดวัคซีน การตรวจวิธีนี้เป็นวิธีที่มีความไวและความจำเพาะสูงสุดในการตรวจวินิจฉัยโรค จมูกอักเสบจาก
ภูมิแพ้ มี 2 วิธีคือ
• วิธีสะกิด ใช้น้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้หยดลงบนผิวหนังที่แขน แล้วใช้เข็มสะกิดตรงกลางหยดน้ำยา เพื่อเปิดผิวหนังชั้นบนออก ถ้าผู้ป่วยมีปฏิกิริยาอักเสบจากภูมิแพ้ที่จำเพาะต่อสารก่อภูมิแพ้นั้นก็จะ เกิดรอยนูน (wheal) และผื่นแดง (flare) และอาจมีอาการคัน อ่านผลได้ในเวลา 20 นาที หลังการทดสอบ
• วิธีฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง ใช้น้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้จำนวน 0.02 มล. ฉีดเข้าในชั้นผิวหนังให้เกิดรอยนูนที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 มม. อ่านผลในเวลา 20 นาที หลังฉีดโดยวัดขนาดของรอยนูนที่ขยายใหญ่ขึ้น สารก่อภูมิแพ้ที่นำมาทดสอบ มักเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่พบได้บ่อย เช่น ฝุ่นบ้าน ตัวไรฝุ่น แมลงต่างๆที่อาศัยในบ้าน เช่น แมลงสาบ โดยทั่วไปจะทดสอบโดยวิธีสะกิดก่อน
ถ้าให้ผลลบจึงพิจารณาทดสอบโดยวิธีฉีดเข้าในชั้นผิวหนังต่อไป ถ้าวิธีสะกิดให้ผลบวกชัดเจน ไม่จำเป็นต้องทำการทดสอบโดยวิธีฉีดเข้าในชั้นผิวหนังอีกเพื่อลดอัตราเสี่ยง ต่อการเกิดอาการแพ้มากจนช็อค
3.5 การหาปริมาณสารก่อภูมิแพ้ในเลือดซึ่งหาได้ทั้งแบบไม่จำเพาะต่อสารก่อภูมิแพ้ ชนิดใดชนิดหนึ่งซึ่งไม่ช่วยมากนักในการวินิจฉัยโรค และแบบที่จำเพาะต่อสารก่อภูมิแพ้แต่ละชนิดซึ่งเป็นที่นิยมในต่างประเทศ เนื่องจากไม่เจ็บและไม่เสี่ยงต่อการเกิดอาการแพ้มาก ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องงดยาบรรเทาอาการภูมิแพ้ ไม่ต้องใช้เวลานานในการทดสอบ ทำให้สะดวกเพียงแค่เจาะเลือด
1 ครั้ง สามารถตรวจหาสารที่ผู้ป่วยแพ้ได้หลายชนิด แต่ในประเทศไทยไม่นิยมใช้ เนื่องจากมีราคาแพง
3.6 การนำสารที่สงสัยว่าผู้ป่วยแพ้ใส่เข้าไปในเยื่อบุจมูกแล้วดูปฏิกิริยาของ เยื่อบุจมูกและอาการของผู้ป่วยซึ่งมักจะใช้ในการทำวิจัยมากกว่า อย่างไรก็ตามอาจมีประโยชน์ในการวินิจฉัยโรคจมูกอักเสบจากการแพ้สารที่เกี่ยว ข้องกับการประกอบอาชีพ
3.7 เอ็กซเรย์ของไซนัสเพื่อดูว่าผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ มีโรคไซนัสอักเสบร่วมด้วยหรือไม่ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อน
ที่พบได้บ่อย
3.8 การส่องกล้องตรวจโพรงจมูกด้วยกล้องเอ็นโดสโคปเพื่อตรวจภายในช่องจมูกให้ ละเอียดมากขึ้น ในรายที่สงสัยว่าจะมี
ภาวะแทรกซ้อนหรือโรคอื่นร่วมด้วยเช่น ผนังกั้นช่องจมูกคด ริดสีดวงจมูกขนาดเล็ก ไซนัสอักเสบ เนื้องอกของจมูกและไซนัส
ความผิดปกติทางกายวิภาคอื่นๆที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการทางจมูก
แต่งโดย : ศ.นพ. เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม
สมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย